Home Book 7 เทคนิคช่วยให้เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7 เทคนิคช่วยให้เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

by khomkrit

พึ่งอ่านบทความของ Maximilian Schwarzmüller เล่าเกี่ยวกับเทคนิคที่เขาใช้ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ

ผมรู้จัก Maximilian มาจากการที่เขาขายคอร์สออนไลน์ใน Udemy และมีคนเรียนกับเขาไปแล้วกว่า 7 แสนคน ซึ่งผมก็เรียนมาแล้วหลายคอร์สเลย เรียกว่าเขาเป็นอาจารย์คนหนึ่งก็ยังได้

การเรียนอะไรสักอย่างบางทีมันก็ไม่ง่าย ไม่ว่าจะเรียนเขียนโค้ด เรียนภาษาใหม่ๆ เรียนวาดรูป เรียนเปียโน หรือเรียนอะไรก็แล้วแต่ ในช่วงแรกๆ นั้นเรามักรู้สึกว่าทำไมมันยาก จนบางทีทำให้เราท้อและหมดหวัง และสุดท้ายเลิกไปในที่สุด

อาจารย์ Maximillian ได้เล่าถึงเทคนิคที่เขาใช้ เกี่ยวกับการสร้างแรงกระตุ้นให้ตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของเขา พอสรุปได้ดังนี้

  • หาเพื่อนเรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อแชร์ข้อสงสัยและปัญหา รวมถึงความสำเร็จต่างๆ ให้กันและกัน นอกจากนั้นยังควรหาแรงบันดาลใจและทบทวนแผนการเรียนอย่างสม่ำเสมอว่าสิ่งที่เราเรียนมานั้นถูกทางหรือไม่
  • ตั้งเป้าในการเรียน โดยตั้งเป้าหมายระยะสั้นให้สอดคล้องกับความเป็นจริงโดยต้องแน่ใจว่าเรานั้นทำได้แน่ๆ และตั้งเป้าหมาระยะยาวให้ใหญ่ๆ และอาจจเกินตัวนิดนึงเข้าไว้
  • จดจำการประเมินเวลากับสิ่งที่เราทำในครั้งที่ผ่านมาไว้ ว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้แค่ไหน ซึ่งนั่นส่งผลให้เราประเมินเวลาที่จะต้องใช้ได้แม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ
  • แยกเป้าหมายใหญ่ๆ ให้เป็นเป้าหมายย่อยๆ เสมอ ถ้าเรารู้สึกว่าเราทำมันไม่ทันแน่ๆ ในระยะเวลาสั้นๆ เพราะถ้าเราทำไม่ได้แบบที่คิดไว้ สิ่งที่ตามมาก็คือความรู้สึกท้อ และค่อยๆ หมดกำลังใจ
  • หยุดพักการเรียนไว้เป็นช่วงๆ และพยายามหาเรื่องใช้สิ่งที่พึ่งเรียนรู้มาหลังจากเรียนไปแล้วให้เร็วที่สุด และบ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้
  • ใช้เทคนิคตั้งเวลาทำงานไว้สั้นๆ ว่าจะหยุดทำงานเมื่อครบกำหนดหลังจากครบกำหนดแล้วให้หยุดทำทันที และในขณะที่อยู่ในช่วงเวลานั้น เราจะต้องโฟกัสให้มากที่สุดเพื่อหวังจะฉกฉวยเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า กำลังติดลม สมองกำลังแล่น งานกำลังเดินเพลินๆ เลย (flow-state) และทำให้เราสามารถทำงานต่อได้มากกว่าที่เราตั้งเวลาไว้โดยไม่รู้ตัว
  • อย่าคิดว่าคนอื่นนั้นเจ๋งกว่าเรา หรือดีกว่าเราในทุกด้าน จนทำให้เรารู้สึกแย่ เขาไม่ได้ดีกว่าเราในทุกๆ ด้านหรอก แต่ให้คิดไว้ว่าคนอื่นที่เราเห็นนั้นเขาก็แค่เลือกแสดงในสิ่งที่เค้าอยากให้เราเห็นเท่านั้นแหละ ซึ่งแน่นอนว่ามักมีแต่เรื่องดีๆ
  • อย่ามัวแต่อ่านบทความ หรือเทคนิคเกี่ยวกับคำแนะนำว่าทำยังไงให้เราเก่ง ทำยังไงให้เรามีแรงบันดาลใจ ทำยังไงให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพเยอะเกินไป …. ลงมือทำบ้างเถอะ

หาเพื่อนช่วยเรียน

เรียนด้วยตัวเองคนเดียวบางทีมันก็รู้สึกเหนื่อย เพราะรู้สึกเหมือนเรากำลังทำอะไรอยู่คนเดียวโดดเดี่ยว ไม่มีใคร บางทีอาจต้องใช้ความพยายามในการโฟกัสค่อนข้างสูงเลยทีเดียว แต่ก็แล้วแต่สไตล์ บางคนก็สามารถผลักดันตัวเอง และเรียนคนเดียวได้ดี

สำหรับคนจำนวนมากแล้ว (อาจจะทุกคนไหมนะ?) หลายสิ่งจะง่ายขึ้นถ้าเราไม่ได้ทำมันคนเดียว ดังนั้นให้เริ่มจากการมองหา “คู่หู” ไม่ว่าจะคนในครอบครัว หรือในแวดวงเพื่อนฝูงก็ตาม จะเป็นใครก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแฟนที่ฟังความสำเร็จของคุณในตอนเย็น หรือว่าเพื่อนสักคนที่คุณสามารถแชร์พูดคุยเกี่ยวกับความสงสัยต่างๆ ความไม่สบายใจ หรือปัจจัยที่ทำให้เราไม่แรงกระตุ้นในการเดินหน้าต่อ การพูดคุยแบบนี้จะช่วยเราได้เยอะเลย

เวลาเราเรียนบางอย่างมันจะมีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันไม่คืบหน้าเลย หนำซ้ำบางทีเรากลับรู้สึกว่ามันถดถอยลงอีกต่างหาก นี่แหละคือตอนที่เรา ต้องการใครสักคน มาช่วยตรวจสอบว่าแนวทางในการเรียนของเรามันโอเคแล้วจริงๆ หรือ บางทีอาจต้องปรับ หรือบางทีเราแค่เจอกับช่วงเวลาที่แย่ๆ เท่านั้น จังหวะนี้มันจะช่วยเราได้เยอะถ้าเรามีเพื่อนเรียนไปด้วยกัน ผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน

การมีเพื่อนเรียนคือการมีใครสักคนที่แชร์ passion และเป้าหมายร่วมกัน แถมยังสามารถคุยกันถึงเรื่องทางเทคนิคลึกๆ ได้อีกด้วย เพื่อ double-check ว่าสิ่งที่เรารู้มานั้นถูกต้องหรือไม่

ตั้งเป้าหมายระยะยาวให้โอเวอร์เข้าไว้

เริ่มจากคำกล่าวนี้จากใครก็ไม่รู้

“People overestimate what they can do in a day and underestimate what they can achieve in a month.”

เรามักจะวางแผนแบบรัดกุมกับแผนระยะยาว แต่ในทางกลับกัน เรามักวางแผนแบบเกินตัวที่คิดว่ามันต้องได้แน่กับแผนในระยะสั้น

ให้เราลองพยายามตั้งเป้าหมายระยะยาวสูงๆ เข้าไว้ มันอาจเป็นเป้าหมายที่เราเองก็ยังไม่แน่ใจว่าเราจะทำมันได้หรือไม่ และให้ระวังว่าอย่าทรนงตัวเองกับเป้าหมายระยะสั้นมากเกินไปนัก แต่ให้เราพยายามมองไปที่ความเป็นจริงว่าเราสามารถทำมันได้แน่ ถ้าทำได้ไม่จริงอย่าเอามาเป็นเป้าหมายระยะสั้นเด็ดขาด เพราะถ้าเราทำไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ เราจะผิดหวัง ท้อแท้ และค่อยๆ หมดแรงผลักดันไปในที่สุด

ตั้งเป้าหมายระยะสั้นให้ง่ายเข้าไว้

เรามักคาดหวังสูงเกินไปสำหรับเป้าหมายในระยะสั้น พอเราตั้งเป้าไว้สูง แล้วเราทำไม่ได้ เราก็ผิดหวัง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะเรานี่แหละเป็นคนกำหนดเป้าหมายและความคาดหวังของเราเอง

แรกๆ เวลาเราตั้งเป้าหมายระยะสั้น ก็อาจมีผิดพลาดไปบ้าง คิดว่าจะทำได้ แต่ท้ายที่สุดก็ทำไม่ได้ แต่ไม่ต้องกังวลไป เมื่อเวลาผ่านไปให้เราจำไว้ว่าอะไรก็ตามที่เราเคยตั้งใจจะทำมันแล้วพบว่าทำมันไม่ได้ตามแผนที่เราคิดไว้ ก็ให้เก็บสิ่งที่เจอไว้เป็นประสบการณ์ จดจำไว้ เอามาใช้ร่วมกับการวางแผนใหม่ในครั้งต่อๆ ไป ให้วางแผนได้สอดคล้องกับเวลามากขึ้น

บางทีเราอาจคิดว่าเราจะสิ่งเดียวกันที่เคยทำมาแล้วได้ดีกว่าเดิม เพราะเราเคยทำมาแล้ว แต่จงจำไว้ว่าบางทีมันอาจเป็นปัญหาที่ความซับซ้อนไม่ต่างกันเลยในแต่ละครั้ง เช่นการเรียนรู้บางอย่างใหม่ๆ ซึ่งนั่นแปลว่าเราอาจไม่ได้ทำมันได้เร็วขึ้นเลย บางทีอาจช้ากว่าเดิม หรือเท่าเดิมด้วยซ้ำ

เป้าหมายบางอย่าง ถ้าเราคิดว่าจะทำมันไม่ทันแน่ๆ ในระยะเวลาสั้นๆ ให้ใช้วิธีเพิ่มเวลาทำงานแทน หรือแยกย่อยออกเป็นงานชิ้นเล็กๆ ลงมาอีก ให้เราได้ทำมันได้สำเร็จในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะถ้าเราสามารถทำมันเสร็จตามเป้าหมายเราจะมีกำลังใจ และทำให้เราพบว่า สำหรับงานแบบนี้เราได้ตั้งเป้าหมายได้สมเหตุสมผลสอดคล้องกับความจริงแล้ว

ในกรณีที่แบ่งเป็นงานเล็กๆ จนรู้สึกว่าเหมาะสมกับเวลาแล้ว แต่ก็ยังทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ลองดูว่าทำไมเราทำไม่ได้ตามที่คิด? อาจเป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ (เช่นป่วย?) หรือมีอะไรมารบกวน ลองคิดดูดีๆ แบบไม่เข้าข้างตัวเอง และดูว่าอะไรที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขมันได้บ้างจนทำให้เราสามารถโฟกัสตอนทำงานได้ต่อเนื่อง

อย่าลืมแตกเป้าหมายใหญ่ออกมาให้เป็นเป้าหมายเล็กๆ อยู่เสมอ เพราะนั่นทำให้เป้าหมายของเราดูอิงกับความเป็นจริงมากขึ้น ส่งผลให้เรามีโอกาสทำได้สำเร็จในช่วงเวลาหนึ่งๆ ได้มากขึ้น และนั่นยิ่งทำให้เป้าหมายของเราชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่เราทำสำเร็จด้วย

พยายามใช้ความรู้ที่เรียนมาให้บ่อยเท่าที่ทำได้

การเรียนรู้อะไรสักอย่างทำให้เราวิตกหากเรารู้สึกว่ามันไม่คืบหน้าเอาเสียเลย

เทคนิคที่ทำให้เปลี่ยนความรู้สึกนี้ได้ก็คือ พยายามใช้ความรู้ที่เรารู้มากับอะไรสักอย่านึงสิ อวดทักษะใหม่ๆ ที่เรามีเพิ่มขึ้นมา อย่างน้อยอวดให้ตัวเองดูก็ยังดี (หรืออวดให้เพื่อนช่วยเรียนดูก็ได้)

ถ้าเรากำลังเรียนการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน ก็ให้ใช้ความรู้ที่เราเรียนมาลองสร้างเว็บไซต์ดู ไม่ว่าจะเรียนมาเล็กน้อยแค่ไหน ก็ให้ลองดู

ถ้าเรียนวาดรูป ก็ลองวาดไปเลย ให้เรารู้ว่าตอนนี้เราวาดได้แล้วนะ หรือกลับไปดูรูปเก่าๆ ที่เคยวาดไว้แล้วเพิ่มรายละเอียดเข้าไปด้วยความรู้ใหม่ๆ ที่เรามีเพิ่มขึ้นมา

สำหรับนักเรียน ผมมองว่าการลองใช้ความรู้ที่เป็นความรู้ทางวิชาการที่ง่ายที่สุดคือ ลองเป็นครู สอนวิชาที่เรียนมา สอนให้ตัวเอง หรือพูดเรื่องที่เรียนมาให้คนรอบๆ ฟังจะทำให้เข้าใจและจดจำได้ดีขึ้นมาก

ใช้ทักษะใหม่ๆ ที่พึ่งได้มาบ่อยที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้!

ไม่มีเวลาไหนที่ดีกว่านี้อีกแล้ว เพราะเราเรียนเพื่อเอามาใช้ หลังเรียนเสร็จก็ให้ลองเอามาใช้เลย ลองดูให้ตัวเราเองเห็นว่านี่ เราคืบหน้านะ

มันไม่ใช่แค่การทำให้เรามีแรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่อง และทำให้เรารู้สึกว่าทำได้ แต่ผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือมันยังทำให้เราได้ฝึกฝนสิ่งที่เราเรียนมาอีกด้วย

ใช้เทคนิค 5 นาที

เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าไม่อยากทำอะไรบางอย่าง (ยกตัวอย่างเช่น ไม่อยากเริ่มอ่านหนังสือ ไม่อยากเริ่มฝึกฝน ไม่อยากไปซ้อมเปียโน ฯลฯ) ให้ลองทำมันแค่ 5 นาทีก็พอ!

ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนไปเลยว่า 5 นาทีพอเลยนะ หรือจริงๆ แล้วจะใช้เวลาเท่าไหร่ก็ได้ ที่ให้เราบอกตัวเองว่า เมื่อถึงเวลาเท่านี้แล้ว ให้เราหยุดทำทันที ซึ่งอาจจะเป็นช่วง 5-20 นาทีก็ได้ แล้วแต่สะดวก แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรมาก ขอให้กำหนดให้ชัดเจนไปเลย ว่าจะทำกี่นาทีถึงจะหยุด

สิ่งสำคัญคือ เวลาที่เรากำลังทำอยู่ตามช่วงเวลาที่กำหนดเอาไว้ เราอย่าสนใจอะไรทั้งนั้น แม้มีงานกองโตข้างหน้าก็ไม่ต้องสนใจ เรารู้แค่ว่าเราจะทำสิ่งนี้เท่าที่เรากำหนดเลาไว้เท่านี้ก็พอแล้ว ดังนั้นอย่ากังวลว่ามีงานเยอะขนาดไหนรอเราอยู่ อย่าวอกแวก แค่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ต้องทำเท่านั้นพอ

ทำไมเทคนิคนี้ถึงเป็นเทคนิคที่ดี?

ทันทีที่เราเริ่มทำงาน จังหวะที่เราต้องการคือจังหวะที่เรา “โฟกัสทำมัน” ซึ่งเวลาเราโฟกัสทำอะไรสักอย่างหนึ่งจนเข้าสู่สถานนะที่เรียกว่า “flow state” หรือภาวะ “เข้าสู่ภวังค์” เมื่อเราอยู่ในสถานะที่ว่านี้ เราจะโฟกัส และไม่อยากหยุดทำงาน พูดง่ายๆ ว่า กำลังติดลม, งานกำลังไป, สมองกำลังแล่น ฯลฯ และเมื่อครบกำหนดเวลาที่เราได้ตั้งเป้าไว้ (บางทีเราอาจไม่ทันดูเวลาเลยด้วยซ้ำ เพราะกำลังติดลม) เราจะพบอีกทีนึงว่าเวลามันผ่านไปแล้วพักใหญ่เลย อาจเป็น 1-2 ชั่วโมงก็ได้ บางคนเรียกอาการนี้ว่า “เงยหน้าขึ้นมาอีกทีก็วาร์ปแล้ว”

แล้วถ้าถึงเวลาแล้วเราไม่อยากทำมันต่อล่ะ? เราก็แค่หยุดทำ เพราะมันคือข้อตกลงแต่ทีแรกที่เราได้วางเอาไว้ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกผิดอะไร เพราะเราก็แค่ทำตามแผนที่เราคิดไว้แต่แรก เราก็แค่ไปพัก ไปเดินเล่น ไปทำอย่างอื่นต่อ แล้วค่อยกลับมาทำใหม่คราวหน้า

ให้เข้าใจว่าทุกคนเขาก็แค่ “อวด” เท่านั้นแหละ

คำว่า “อวด” ในที่นี้บางคนมองว่ามันเป็นคำที่ใช้พูดในเชิงลบ แต่สำหรับผมเองแล้วมันก็แค่คำคำหนึ่งที่บอกว่าคนคนหนึ่งทำสิ่งหนึ่งเพื่อต้องการให้คนอื่นรู้ว่าเขามี เขาเป็น เขาทำอะไรเท่านั้นเอง ไม่ใช่คำเชิงลบแต่อย่างใด (แต่ถ้า “ขี้อวด” นี่ก็อีกเรื่อง)

อวด ก. สำแดงให้รู้เห็น, นำออกให้ชม, ยกย่องต่อหน้าคน

ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร

ทุกคนก็แค่พยายามบอกเล่าเกี่ยวกับความสำเร็จของตัวเองเท่านั้นแหละ

น้อยคนมากที่จะบอกว่าเขามีอะไรที่ไม่สำเร็จ หรือบอกด้านแย่ๆ ของตัวเอง บอกว่าตัวเองมีปัญหาชีวิตอะไรบ้าง เขาบอกแค่บางส่วนในชีวิตที่อยากจะบอกเราเท่านั้น ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ได้ผิดอะไร ใครจะมาอวดในสิ่งที่ไม่ดีกับตัวเองบ้างล่ะ แต่สิ่งนี้แหละที่เราต้องระวัง!

การกล่าวแบบนี้ ไม่ได้แปลว่าทุกคนโกหกตลอดเวลา แต่มันตีความได้ว่า ไม่มีใคร เน้นว่า ไม่มีใคร ที่จะสมบูรณ์แบบไปซะทุกเรื่องในทุกๆ วัน ทุกคนก็แค่ไม่ได้เล่าทุกอย่างในทุกๆ ช่วงเวลาของเขาเท่านั้นเอง

ดังนั้น ไม่ว่าเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าเราสู้คนอื่นไม่ได้ หรือมีทักษะ หรือมีบางอย่างที่รู้สึกว่าด้อยกว่าใครสักคน ให้เข้าใจไว้เลยว่า “ทุกคนก็รู้สึกแบบเดียวกับเรา”

เราไม่จำเป็นต้องพยายามทำงานหนักเหมือนกับคนอื่นเขา เพียงเพราะว่าใครๆ เขาก็ทำ หรือพยายามทำตัวแบบนั้นแบบนี้ให้เหมือนกับคนอื่นๆ เขาหรอก เราแค่ทำตามเป้าหมายที่เรามีก็พอ

ง่ายๆ เลย ก็เพราะว่า “เราไม่ได้เห็นภาพรวมทั้งหมดยังไงล่ะ” เราแค่เห็นเฉพาะสิ่งที่คนอื่นอยากให้เราเห็นเท่านั้น ดังนั้น เฉยๆ เข้าไว้ ชีวิตพวกเขาไม่ได้สมบูรณ์แบบอะไรขนาดนั้น

อย่าอ่านแนวทางการกระตุ้นสร้างแรงผลักดันให้ตัวเองมากนัก

ข้อนี้อาจจะย้อนแย้งนิดๆ กับบทความนี้ แต่อย่างน้อยผมก็หวังว่าบทความนี้พอจะช่วยอะไรได้บ้าง

ไม่ได้ผิดอะไรที่เราจะอ่านบทความสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแรงกระตุ้นผลักดันเรา เทคนิคต่างๆ อย่างเช่นบทความนี้ ไม่งั้นผมคงไม่เขียนมันขึ้นมา ส่วนตัวผมเองก็ยังชอบอ่านพวกเทคนิคต่างๆ หรือพวก life hack ต่างๆ อยู่

ประเด็นคือ อย่ามัวแต่อ่านมันอย่างเดียว

เพราะว่าการอ่านพวกบทความต่างๆ มักทำให้เรารู้สึกดี หรือรู้สึกฮึดว่าเราพร้อมแล้วล่ะที่จะเริ่มลงมือทำ เย้! แต่เดี๋ยวก่อน นั่นมันคือเรายังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลยนะ อย่าพึ่งดีใจไป

การอ่านนั่นดี (และแน่นอนว่ามันก็สำคัญ) แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และแน่นอนว่าการสักแต่จะลงมือทำโดยไม่อ่านเลย ก็ย่อมไม่ดีแน่ ดังนั้น การ ลงมือทำ นั้นไม่ใช่แค่ว่าเราต้องลงมือเขียนโค้ด หรือวาดรูปไปโดยไม่อ่านอะไรเลย แต่การอ่านบทความสอนต่างๆ การดูวีดีโอสอนออนไลน์ ศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน

สิ่งสำคัญก็คือเราต้องคิดอยู่เสมอว่าการที่เราจะเรียนบางอย่างนั้น เราจำเป็นต้องลงมือทำ

You may also like

1 comment

Avatar photo
ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร? - 8 แนวทางในการหาคำตอบว่าตอนนี้เรามีชีวิตที่ดีหรือยัง ตุลาคม 25, 2020 - 22:32

[…] คนเราทุกคนต่างมีด้านดีของตัวเอง มีสิ่งที่เราภาคภูมิใจในตัวเอง ค้นหามันให้เจอ สิ่งที่เราเห็นในโซเชียลเน็ตเวิร์คนั้นก็แค่ด้านดีๆ ที่คนอื่นเขาอยากให้เราเ…แหละ […]

Comments are closed.