Home Book แนวทาง การบริหารจัดการตัวเอง (Managing Oneself)

แนวทาง การบริหารจัดการตัวเอง (Managing Oneself)

by khomkrit

การบริหารจัดการตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม สำหรับการสร้างผลงานให้ได้มากที่สุด และต้องมีการตื่นตัวตลอดการทำงาน ซึ่งหมายความว่าเราต้องรู้ว่าเราจะทำงานได้ดีที่สุดได้อย่างไร เมื่อใดที่ควรเปลี่ยนงาน และจะเปลี่ยนได้อย่างไร 

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงมาจากบทความเรื่อง Managing Oneself by Peter F. Drucker เผยแพร่เมื่อปี 1999 — รวมรวมโดยหนังสือ HBR at 100

การที่จะบริหารจัดการตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญใน การบริหารจัดการตัวเอง ในเรื่องต่างๆ 7 ข้อ ต่อไปนี้

nature fashion follow love
Photo by Luis Moya on Pexels.com

1. จุดแข็งของเราคืออะไร?

โดยทั่วไปแล้วการคิดว่าเราไม่เก่งเรื่องอะไรมักมีโอกาสถูกมากกว่าเราคิดว่าเราเก่งเรื่องอะไรเสียอีก นั่นแปลว่าบางอย่างที่เราคิดว่าเราเก่ง อาจไม่เป็นความจริงก็เป็นได้ เป็นความความเข้าใจไปเองเท่านั้น เราจึงจำเป็นต้องค้นหาจุดแข็งที่แท้จริงของเราเอง เนื่องจากเราจะสร้างผลงานที่ดีได้จากจุดแข็งของตนเองเท่านั้น ไม่มีใครสร้างผลงานที่ดีได้จากความอ่อนด้อย 

ในอดีต เราแทบไม่ค่อยมีความจำเป็นมากนักที่จะรู้ว่าจุดแข็งของตัวเองคืออะไร เพราะมักถูกกำหนดมาแล้วว่าจะต้องทำอาชีพอะไร แต่เดี๋ยวนี้เรามีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น เมื่อเรารู้จุดแข็ง เราก็สามารถย้ายไปทำงานที่สอดคล้องกับจุดแข็งของเราได้

เราจะใช้การวิเคราะห์ผลย้อนกลับ (Feedback analysis) ในการหาจุดแข็งของเรา วิธีก็คือ เวลาเราตัดสินใจว่าจะทำอะไรให้เราเขียนเก็บไว้ แล้วเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 ปี ให้เรากลับมาทบทวนว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นเป็นอย่างไร วิธีนี้นอกจากจะทำให้เราเห็นจุดแข็งของเราได้ ก็ยังทำให้เรารู้ว่าจุดด้อยของเราคืออะไรได้เช่นกัน

จุดด้อยของเรา จะบอกสิ่งที่เราไม่ควรทำ เนื่องจากเราทุกคนต่างมีด้านที่ไม่มีทักษะหรือความสามารถที่จะทำได้ เราไม่ควรรับตำแหน่งหรืองานใดใดที่ต้องใช้ทักษะที่เราไม่มีความสามารถ และควรพยายามให้น้อยที่สุดกับการปรับปรุงเรื่องที่เรามีความสามารถต่ำ เพราะการมุ่งเป้าพัฒนาทักษะที่เรามีความสามารถต่ำนั้นต้องใช้ทรัพยากรมากกว่ามุ่งพัฒนาทักษะที่เรามีความสามารถสูงแถมผลที่ได้ก็ยังไม่คุ้มค่าอีกด้วย แต่บริษัทส่วนมากกลับมุ่งความสนใจไปที่การเปลี่ยนคนที่ไม่สามารถทำงานได้ไปเป็นคนที่ทำงานได้แบบย่ำแย่ ซึ่งมันไม่คุ้มค่าเลย

พอเราได้ผลลัพธ์ออกมาแล้ว ให้เราทำ 3 อย่างต่อไปนี้

  1. ให้มุ่งความสนใจไปที่จุดแข็งของเราเป็นหลัก แล้ววางตัวเองให้อยู่ในจุดที่เราสามารถใช้จุดแข็งเพื่อสร้างผลงานได้ 
  2. หาทางพัฒนาจุดแข็งของเราให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่
    • เราจะต้องรู้ว่าเราต้องพัฒนาความสามารถใหม่อะไรบ้าง
    • ความสามารถไหนที่เราต้องปรับปรุงบ้าง
    • อะไรที่เรามีและยังขาดไป 
  3. ค้นหาความอวดดีในเรื่องที่คิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนอื่น และหาทางขจัดออกไปเสีย อย่าดูแคลนความรู้ในสาขาวิชาอื่น แต่ให้หาทางพัฒนาตนเองให้ได้ความรู้ที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากจุดแข็งของเรา 

เวลาเราตั้งใจหรือวางแผนว่าจะทำอะไรสุดท้ายแล้วผลที่ออกมาไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้มักมาจาก 2 สาเหตุ ได้แก่

  1. เราไม่ได้ดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ หรือไม่ยอมปรับเปลี่ยนแผนหรือไม่ยอมตัดสินใจว่าจะทำตามแผนเมื่อใด ไม่ได้แปลว่านี่คือจุดอ่อนของเรา แต่คือนิสัยที่ไม่ดีของเรา เพราะถ้าเราได้ใช้จุดแข็งของเราอย่างเต็มที่ ผลลัพธ์อาจจะออกมาดีก็ได้ ดังนั้น เราต้องหาทางกำจัดนิสัยที่ไม่ดีนี้ออกไป
  2. เราไม่มีมารยาท — มารยาทนั้นเปรียบได้กับน้ำมันหล่อลื่นที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนต่อไปได้ การมีมารยาทอย่างเช่นการพูดว่าได้โปรด ขอบคุณ การจำชื่อของคนอื่นได้ หรือการถามไถ่ความเป็นอยู่ทางครอบครัวของคนคนนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้คนทำงานด้วยกันทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกชอบพอกัน กลุ่มคนรุ่นใหม่มักไม่เข้าใจเรื่องนี้ และการที่คนเก่งทำงานล้มเหลวหลายครั้ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนนั้นไม่มีความนอบน้อมหรือไม่มีมารยาทนั่นเอง 

2. หาว่าวิธีการทำงานของฉันเป็นแบบใด?

วิธีการทำงานของแต่ละคนนั้นมีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งสิ่งนี้ถูกหล่อหลอม และถูกกำหนดมาแล้วตั้งแต่ก่อนเราทำงานเสียอีก จริงอยู่ว่าเราสามารถเปลี่ยนวิธีการทำงานของเราได้แต่ก็เปลี่ยนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าจะให้เปลี่ยนจากเดิมโดยสิ้นเชิงนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยเพราะนี่คือตัวเรา เราถูกหล่อหลอมมาแบบนี้แล้ว

เราจะทำงานออกมาได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อเราทำงานด้วยวิธีที่เราถนัดมากที่สุด เราสามารถบอกได้คร่าวๆ ว่าเราถนัดใช้วิธีในการทำงานแบบไหนโดยการดูจากลักษณะต่อไปนี้

two person listening to woman standing beside poster
Photo by Elevate Digital on Pexels.com

ฉันเป็นนักอ่านหรือนักฟัง?

เป็นเรื่องยากที่เราจะเป็นทั้งนักอ่านและนักฟังในคนเดียวกัน และยังมีคนอีกมากมายที่บอกไม่ได้ว่าตัวเองคือนักอ่านหรือนักฟัง การที่เราไม่รู้เรื่องนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากมายตามมาได้ เช่น ถ้าเราเป็นนักอ่าน แต่เรามักให้น้องในทีมมาพูดบรรยายให้เราฟังเสมอๆ เราอาจตอบกลับได้ไม่ดีเท่าที่ควรก็เป็นได้ ในทางกลับกัน ถ้าน้องในทีมใช้วิธีเขียนบรรยายเป็นรายงานให้เราอ่านแทน เราจะสามารถวิเคราะห์ และตอบกลับได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

คนที่เป็นนักอ่านจะพัฒนาตัวเองให้เป็นนักฟังได้ยากเช่นเดียวกับคนที่เป็นนักฟังจะพัฒนาตัวเองให้เป็นนักอ่าน

วิธีการเรียนรู้ของฉันเป็นอย่างไร?

วิธีการทำงานของเราขึ้นอยู่กับวิธีการเรียนรู้ของเรา ซึ่งการเรียนรู้ของแต่ละคนก็ต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านการ ฟัง พูด อ่าน เขียน ฯลฯ แต่โรงเรียนในทุกวันนี้จะสอนโดยมีสมมติฐานว่าเด็กนักเรียนทุกคนมีวิธีการเรียนรู้ที่เหมือนกัน และต้องเรียนด้วยวิธีที่ทางโรงเรียนจัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น ดังนั้น เด็กที่ไม่ถนัดเรียนตามที่โรงเรียนเตรียมไว้ให้จึงลงเอยด้วยการเรียนรู้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร (แนะนำ 21st Century Skills)

ฉันถนัดทำงานคนเดียวหรือทำกับคนอื่น

หากคำตอบคือทำงานกับคนอื่น ก็ต้องหาคำตอบต่อไปว่า เราจะทำงานกับคนอื่นได้ดี เมื่อเรามีความสัมพันธ์กับคนอื่นเป็นแบบใด เช่น ความสัมพันธ์แบบผู้บังคับบัญชา-ใต้บังคับบัญชา ความสัมพันธ์แบบสมาชิกของทีมงาน แบบผู้ฝึกสอน แบบผู้ให้คำแนะนำ ผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรือเป็นผู้ให้คำปรึกษา เป็นต้น

ฉันทำงานได้ดีในสภาพแวดล้อมแบบใด

ถามตัวเองว่า ฉันทำงานได้ดีภายใต้ภาวะกดดันและตึงเครียดหรือไม่ และฉันทำงานได้ดีที่สุดในองค์กรขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก เนื่องจากมีคนจำนวนน้อยมากที่สามารถทำงานได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม ดังนั้นอย่าพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพราะความเป็นไปได้ที่เราจะทำผลงานออกมาได้ดีนั้นน้อยมาก

สิ่งสำคัญที่สุดของเรื่องนี้คือ หลังจากที่เรารู้แล้ว เราควรนำความรู้นี้ใช้ทำอะไรสักอย่างด้วย เพราะนั่นคือกุญแจสำคัญที่ทำให้เราสร้างผลงานได้ดี

3. ค่านิยมที่ฉันยึดถือคือะไร?

การทำงานในองค์กรที่มีค่านิยมขัดแย้งกับค่านิยมที่คนคนหนึ่งยึดถือ หรือเป็นค่านิยมที่ไม่สามารถยอมรับได้ จะทำให้คนคนนั้นรู้สึกไม่พอใจและไม่สามารถทำงานได้  อีกทั้งองค์กรหรืองานที่มีค่านิยมขัดกับจุดแข็งของเรา อาจไม่มีค่าพอที่เราจะอุทิศชีวิตเพื่อทำงานนี้ ลองหาคำตอบดูว่าค่านิยมขององค์กรคืออะไร และค่านิยมของงานที่เราทำ คือะไร? เช่น

  • คุณมีค่านิยมว่า จะต้องทำงานโดยเอาใจใส่ต่อความรู้สึก และเน้นเฟ้นหาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ลูกค้าเสมอ แต่องค์กรหรือทีมที่คุณทำงานอยู่ เน้นแต่คิดว่าจะทำยังไงถึงจะหาเงินจากลูกค้าได้เพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจว่าลูกค้าจะได้ของที่ดี มีคุณภาพหรือไม่
  • คุณมีค่านิยมว่า คุณจะต้องทำงานแบบมืออาชีพและเป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ ของลูกค้า แต่องค์กรหรือทีมที่คุณทำงานอยู่เน้นทำงานแบบที่ลูกค้าต้องเป็นคนสั่งให้ทำอย่างเดียว โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการนั้น เป็นผลดีต่อลูกค้าหรือไม่
  • คุณมีค่านิยมว่า การทำงานให้ได้ผลดีนั้น ทุกคนในทีมจะต้องแบ่งปันความรู้สึก กล้าโต้แย้งทางความคิด และตัวงานของกันและกันอย่างตรงไปตรงมา เพราะนี่คืองานของพวกเรา แต่องค์กรหรือทีมที่คุณทำงานอยู่ ไม่กล้าที่จะโต้งแย้งกันอย่างสร้างสรรค์ตรงไปตรงมา แต่กลับเกรงใจ และแกล้งทำเป็นเห็นด้วยเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดการขุ่นข้องหมองใจกันโดยไม่สนใจผลลัพธ์อันเลวร้ายที่จะตามมา
  • คุณมีค่านิยมว่า งานแต่ละงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ คุณต้องทำมันอย่างเต็มที่ ต้องรู้ลึกรู้จริงเกี่ยวกับหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย และถ้าต้องใช้เครื่องมือ ก็ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในเครื่องมือนั้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร แต่องค์กรและทีมที่คุณทำงานด้วย เน้นทำงานแบบให้ผ่านไปให้พอส่งงานลูกค้าเป็นใช้ได้ หรือส่งงานหัวหน้าได้ไปเป็นรอบๆ การแก้ปัญหาก็เป็นการแก้แบบเฉพาะหน้า ไม่เน้นที่การแก้ปัญหาระยะยาว

เมื่อคุณเห็นว่า ค่านิยมของคุณ ขัดกับค่านิยมขององค์กรหรือทีมที่คุณทำงานอยู่ ก็เป็นไปได้ว่า งานที่คุณทำอยู่อาจไม่มีค่าพอที่เราจะอุทิศชีวิตเพื่อทำงานนี้ คุณไม่เหมาะสมกับองค์กรและทีมนี้ คุณควรลาออกไปหาองค์กร และทีมที่เหมาะสมกับคุณมากกว่านี้

4. เราเหมาะสมกับที่ใด?

เมื่อเราตอบคำถาม 3 ข้อที่อธิบายมาก่อนหน้านี้แล้ว (จุดแข็ง, วิธีการเรียนรู้, ค่านิยม) เราจะมีข้อมูลเพียงพอในการหาคำตอบว่า ที่ที่เหมาะสมกับเราคือที่ใด และในทางตรงกันข้ามมันก็ตอบเราได้ว่าเราไม่เหมาะกับที่ทำงานแบบไหนด้วยเช่นกัน

การที่เราทำงานถูกที่ สามารถเปลี่ยนคนธรรมดาที่ทำงานหนักและมีความสามารถแต่กลับมีผลงานไม่ดีให้กลายเป็นคนที่มีผลงานโดดเด่นได้ ดังนั้นการเลือกที่ที่เหมาะสมสำหรับเรา จึงเป็นสิ่งสำคัญ

5. ฉันควรทำอะไรให้องค์กร?

ที่ผ่านมาเราไม่จำเป็นต้องถามตัวเองว่าควรทำอะไรเพราะเราถูกกำหนดมาให้แล้วตอนที่เราเข้าทำงาน เราก็ทำตามฟังก์ชั่นงานไป แต่ต่อมาภายหลัง คนหนุ่มสาวเริ่มตั้งคำถามเดียวกัน และคำตอบที่พวกเขาคิดก็คือ “การทำสิ่งที่เราถนัด” — แต่คำตอบนี้ผิด

เราสามารถหาคำตอบได้จากการตอบคำถาม 3 ข้อต่อไปนี้

  1. สิ่งที่จำเป็นสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันขององค์กรคืออะไร?
  2. เมื่อพิจารณาจากจุดแข็ง และค่านิยมของฉันแล้ว ฉันควรทำอย่างไรจึงจะมีส่วนช่วยให้งานที่ทำสำเร็จลุล่วงได้มากที่สุด?
  3. ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเพื่อสร้างความแตกต่างคืออะไร?

เมื่อเรารู้แล้ว ว่าจะลงมือทำอะไร เราจะต้องวางแผนในการทำ แต่การวางแผนที่ไกลเกินไปนั้นแทบเป็นไปไม่ได้หรืออาจไม่มีประโยชน์เท่าไหร่นัก ดังนั้นแผนที่ควรจะเป็นต้องชัดเจน และใช้เวลาไม่เกิน 18 เดือน นั่นแปลว่า คำถามที่ควรจะเป็นจริงๆ ก็คือ “ฉันจะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นภายในเวลาปีครึ่งด้วยการสร้างผลงานในด้านใด และต้องทำอย่างไรให้เกิดผล”

ผลลัพธ์ที่ต้องการ ควรเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถ และเราต้องสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงด้วย เพราะการตั้งเป้าหมายที่ไม่มีทางสำเร็จไม่ใช่การทำสิ่งท้าทายแต่เป็นการทำสิ่งที่โง่เขลา 

ผลลัพธ์ต้องเป็นสิ่งที่มีความหมาย สร้างความแตกต่างได้ และต้องเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจน

6. มีความรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์

มีคนน้อยมากที่จะทำงานให้สำเร็จได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง ส่วนใหญ่แล้วเราจะทำงานได้ออกมามีคุณภาพดีด้วยการทำงานร่วมกับผู้อื่น ดังนั้นหากเรามีความรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์ งานที่เราทำก็มีแนวโน้มว่าจะออกมามีประสิทธิผลดีตามไปด้วย

photo of women wearing masks
Photo by Andrea Piacquadio on Pexels.com

ยอมรับความจริงที่ว่าคนอื่นก็มีความเป็นปัจเจกบุคคลเหมือนกับคุณ

แต่ละคนต่างมีจุดแข็ง มีวิธีการทำงาน และมีค่านิยมเป็นของตัวเอง ดังนั้น นอกจากเราจะรู้ว่าทั้ง 3 สิ่งนี้ของเราเป็นอย่างไรแล้ว เราจะต้องรู้ด้วยว่าทั้ง 3 สิ่งนี้ของเพื่อนร่วมงานแต่ละคนคืออะไร และแม้ 3 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรรู้ แต่กลับมีไม่กี่คนที่ใส่ใจกับเรื่องนี้ ทำให้ทำงานได้ไม่สอดคล้องกัน และอาจลงเอยด้วยความล้มเหลวในการทำงาน เช่น หากเราต้องการบริหารจัดการผู้บังคับบัญชาของเรา เราจำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมของผู้บังคับบัญชาว่าเขาเป็นคนอย่างไรจาก 3 สิ่งที่กล่าวมา แล้วปรับตัวให้เป็นแบบที่จะช่วยให้ผู้บังคับบัญชาทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด เนื่องจากเขาก็มีสิทธิ์จะทำงานในแบบที่จะทำให้เขาสร้างผลงานออกมาให้ดีที่สุดเช่นกัน

นั่นแปลว่า เคล็ดลับอย่างแรกของการทำงานให้สัมฤทธิ์ผลก็คือ การทำความเข้าใจคนที่คุณทำงานด้วย 

มีความรับผิดชอบในการสื่อสาร

ส่วนใหญ่เราขัดแย้งกันเพราะสื่อสารกันได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้สาเหตุอาจมาจากการไม่รู้ว่าใครทำงานอะไร และมีวิธีการทำงานเป็นแบบใด หรือไม่รู้ว่าคนอื่นมุ่งความสนใจไปที่ด้านใดขององค์กร และคาดหวังผลลัพธ์อะไร ถ้าคนอื่นไม่รู้ว่าเราทำอะไร หรือมีอะไรอยู่ในมือ ความผิดไม่ใช่อยู่ที่คนอื่น แต่อยู่ที่เราที่ไม่ได้สื่อสารให้ดีพอจนพวกเขารับรู้ ซึ่งแม้แต่คนที่เข้าใจถึงความสำคัญของความสัมพันธ์เป็นอย่างดี ก็มักจะไม่สื่อสารอย่างเพียงพอ เพราะกลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นคนถือดี อยากรู้อยากเห็น หรือโง่เขลา ซึ่งพวกเขาคิดผิด

ในอดีตเรื่องนี้ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ เพราะทุกคนต่างประกอบอาชีพเดียวกัน ทำเหมือนๆ กัน เรามีเป้าหมายชัดเจนไปในทิศทางเดียวกัน แต่ปัจจุบัน เรามีแนวโน้มที่จะทำงานที่ต่างคนต่างมีความรับผิดชอบในด้านที่ต่างกันออกไป ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การสร้างองค์กรไม่ได้มีรากฐานมาจากการบังคับ แต่มาจากความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และเราสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันด้วยการมีความรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์กับคนอื่นในองค์กร (อ่าน: ความสุขมาจากไหน)

7. ชีวิตครึ่งหลังของคุณ

ในอดีตการทำงานมักจะหมายถึงการใช้แรงงาน เราจึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าชีวิตครึ่งหลังเราจะเป็นอย่างไรเพราะเราก็แค่ทำอย่างที่เราเคยทำต่อไปเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้งานส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้ความรู้เป็นหลัก ซึ่งมักจะทำให้เรารู้สึกว่ายังไม่จบแม้เราจะทำงานมาแล้วเป็นเวลา 40 ปีก็ตาม และเรายังไม่รู้สึกเบื่องาน

กับบางคน พอเราทำงานไปจนถึงช่วงหนึ่งของชีวิต บางคนเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายหรือ ยังรู้สึกว่าไม่ได้เรียนรู้ หรือทำประโยชน์ หรือได้ความท้าทายและความพึงพอใจจากงานดังกล่าว แต่เราก็ยังต้องทำงานแบบนั้นไปอีกจนกว่าจะเกษียณ  

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การบริหารจัดการตนเองชี้นำทางให้คนคนหนึ่งเริ่มต้นอาชีพใหม่มากขึ้น การสร้างอาชีพที่ 2 สามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่

  1. เริ่มงานใหม่ — เหมาะกับคนที่มีทักษะความสามารถในระดับสูง และพวกเขารู้ว่าควรทำงานอย่างไร สิ่งที่พวกเขาต้องการคือชุมชน และพวกเขาต้องการความท้าทาย
  2. การสร้างอีกอาชีพคู่ขนานไปกับอาชีพเดิม — โดยมากมักเป็นการทำงานในองค์กรไม่แสวงกำไร
  3. เป็นผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม — เหมาะกับคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่งานที่ทำอยู่ไม่ท้าทายสำหรับพวกเขาอีกต่อไป 

คนส่วนใหญ่จะเกษียณตัวเองในระหว่างที่ทำงานอยู่และนั่งนับวันรอเวลาจนกระทั่งถึงวันเกษียณจริง มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะคิดเกี่ยวกับ การบริหารจัดการตัวเอง ในครึ่งหลัง แต่คนส่วนน้อยดังกล่าว จะกลายเป็นผู้นำและแบบอย่างของสังคม เพราะพวกเขามองว่าอายุขัยการทำงานที่ยาวนานเป็นโอกาสทั้งสำหรับตัวของพวกเขาและสังคม

สิ่งที่สำคัญเมื่อคุณต้องบริหารชีวิตครึ่งหลังของคุณคือ คุณต้องเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ


การบริหารจัดการตัวเอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น คนที่ทำงานโดยใช้ความรู้จะต้องคิด และประพฤติตัวเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท 

เนื่องจากปัจจุบันนี้คนในสังคมเปลี่ยนจากการใช้แรงงานตามคำสั่งไปเป็นคนที่ทำงานโดยใช้ความรู้และต้องบริหารจัดการตนเองได้ทำให้โครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก เมื่อก่อนองค์กรอยู่ได้นานกว่าคนที่ทำงานในองค์กร และคนส่วนใหญ่จะไม่ย้ายไปทำงานที่อื่น แต่ปัจจุบันกลายเป็นตรงกันข้าม คนที่ทำงานโดยใช้ความรู้กลับอยู่ได้นานกว่าองค์กร และสามารถย้ายไปที่อื่นได้ทุกเมื่อ 

You may also like