Home Book ความสุขมาจากไหน? สิ่งที่คนมีความสุขมีเหมือนกันคืออะไร

ความสุขมาจากไหน? สิ่งที่คนมีความสุขมีเหมือนกันคืออะไร

by khomkrit

สิ่งที่เป็นยอดปราถนาของมนุษย์เราคงหนีไม่พ้น “ความสุข” แล้วความสุขคืออะไร ความสุขมาจากไหน ความสุขประกอบขึ้นจากอะไร และเราจะสร้างความสุขได้อย่างไร?

เนื้อหาในบทความนี้อ้างอิงจากหนังสือ ชื่อ ลุกกะ วิถีความสุขจากทุกมุมโลก เขียนโดย ไมก์ วิกิง

ไมก์ วิกิง (Meik Wiking) เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขในโคเปนเฮเกน และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความสุขระดับแนวหน้าของโลก เขาทำงานกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อเสาะหา และศึกษาแนวโน้มของความพึงพอใจในชีวิตในระดับโลก

ผู้เขียนได้ออกตามหาลักษณะร่วมกันของคนที่มีความสุขทั่วโลก จากการทำวิจัย ศึกษา และอ้างอิงงานวิจัยต่างๆ เพื่อหาคำตอบว่าคนที่มีความสุขมีอะไรเหมือนกันบ้าง อะไรบ้างที่ส่งผลสำคัญต่อความสุข ความพึงพอใจในชีวิต และคุณภาพชีวิต

ลุกกะ วิถีความสุขจากทุกมุมโลก
ลุกกะ วิถีความสุขจากทุกมุมโลก

เราวัดความสุขได้อย่างไร ?

โดยทั่วไปแล้วเรามักใช้เงินเพื่อประเมินคร่าวๆ ว่าใครน่าจะมีความสุขมากกว่ากัน แต่เงินไม่ว่าจะระดับชาติหรือระดับบุคคลล้วนไม่ขึ้นอยู่กับความรู้สึก เราจะรู้สึกอย่างไร เงินก็ไม่ได้เพิ่มหรือลดลงตามไปด้วย แต่ความสุขไม่ได้เป็นแบบนั้น ความสุขขึ้นอยู่กับความรู้สึกของแต่ละคน นั่นแปลว่า เรา คือคนที่จะตอบได้ดีที่สุดว่าเรามีความสุขหรือเปล่า ดังนั้นมาตรวัดความสุขที่แท้จริง ก็คือตัวเรานี่เอง

 เราสามารถแบ่งมุมมองของความสุขออกได้เป็น 2 มิติ คือ

  1. ความสุข ณ ขณะนี้ — ความสุขในมิติด้านอารมณ์และความรื่นรมณ์ เน้นดูว่าแต่ละวัน ตอนนี้ เรารู้สึกยังไง
  2. ความสุขโดยรวม — เราจะถอยหลังกลับไปก้าวหนึ่งแล้วประเมินชีวิตของตัวเองดู ว่าโดยรวมแล้วเราพึงพอใจกับชีวิตแค่ไหน ชีวิตเราเดินมาถึงจุดไหนแล้ว ความฝันของเราคืออะไร และคุณรู้สึกว่าความฝันนั้นใกล้จะกลายเป็นจริงแค่ไหนแล้ว ณ จุดที่เรากำลังยืนอยู่

องค์ประกอบความสุขทั้ง 6 ที่คนมีความสุข “มีเหมือนกัน”

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ค้นพบว่า 6 สิ่งต่อไปนี้ คือสิ่งที่ทุกคนที่มีความสุขทั่วโลก มีเหมือนกัน

1. ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน

ประเทศที่มีความสุขที่สุดล้วนมีบรรยากาศของชุมชนที่เข้มแข็ง และคนในชุมชนล้วนรู้ว่าความสุขไม่ได้เกิดจากการมีรถคันใหญ่กว่า แต่มาจากการได้รู้ว่าทุกคนที่เรารู้จักและรักจะมีคนคอยอุปถัมภ์ค้ำชูในยามยาก

ประเทศที่ประชาชนมีความสุขมากๆ อย่างเดนมาร์ก มีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของคนที่เชื่อว่าสามารถพึ่งพามิตรสหายยามตกทุกข์ได้ยาก สูงถึง 95.5%

วิธีการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันแบบง่ายๆ คือการแบ่งเวลาให้การกิน กินกับเพื่อน กินกับครอบครัว กินกับเพื่อนร่วมงาน ควรกินช้าๆ และเพลิดเพลินพร้อมกับคนอื่นๆ ที่ฝรั่งเศสเคยถึงกับให้คำแนะนำอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการกินว่า “คุณควรกินอาหารร่วมกับคนอื่นๆ” แทนที่จะแนะนำเกี่ยวกับโภชนาการอย่างที่เราคุ้ยเคยกัน

ชาวเดนมาร์กทั่วไปเสียภาษีเงินได้ราว 45% และผลสำรวจพบว่า 9 ใน 10 คน บอกว่า “ยินดีเสียภาษี” เพราะคนเดนมาร์กเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตที่ดีกับประโยชน์สุขส่วนรวม พวกเขาเข้าใจว่าการเสียภาษีคือการจ่ายเงินเพื่อซื้อคุณภาพชีวิต และกำลังลงทุนไปกับชุมชนที่พวกเขาอยู่

ที่เดนมาร์กมีสิ่งที่เรียกว่า บูเฟลเลสสเกบ ก็คือโครงการบ้านพักอาศัยที่ใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน คนในชุมชนสามารถไว้วางใจกันในระดับที่สามารถให้ลูกเล็ก ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านได้โดยเชื่อว่าคนในชุมชนจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้ พวกเขารู้สึกปลอดภัย เป็นหนึ่งเดียว รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันกับคนในชุมชน เมื่อพวกเขามีปัญหา พวกเขาก็เชื่อว่าจะสามารถขอความช่วยเหลือเบื้องต้นจากคนในชุมชนได้แน่นอน ปัจจุบันมีสถานที่แบบนี้นับร้อยๆ แห่งทั่วเดนมาร์ก และมีคนอาศัยอยู่รวมกันมากกว่า 5 หมื่นคน แทบทุกคนบอกว่ารู้สึกปลอดภัย และพึงพอใจกับสภาพความเป็นอยู่ ที่สำคัญคือ คนกว่า 70% บอกว่ามีเพื่อนอย่างน้อย 4 คน ในละแวกบ้าน

คุณล่ะ รู้จักเพื่อนบ้านหรือเปล่า? มีเพื่อนบ้านสักคนที่เราเรียกว่า “เพื่อน” ได้มั้ย?

การทำชุมชนที่พักอาศัยแบบนี้ไม่มีสูตรตายตัว เราต้องคิดให้ออกว่าสิ่งไหนที่เหมาะกับเรา อะไรคือรากฐานที่จะช่วยสร้างชุมชนของเราขึ้นมา หาคำตอบว่าอะไรที่ผู้คนสนใจ อะไรที่ยึดโยงผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วใช้สิ่งนั้นเป็นรากฐานในการสร้างชุมชนขึ้นมา

ยิ่งเรามีคนที่พูดคุยเรื่องส่วนตัวได้ด้วยมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ดังนั้น ความโดดเดี่ยวจึงส่งผลร้ายต่อความสุข เราสามารถลดความโดดเดี่ยวได้ง่ายๆ ด้วยการ “เริ่มคุยกับเพื่อนบ้าน” อย่าทำตัวออกจากสังคมที่เราอยู่ เพราะความรักและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นสิ่งที่อยู่ต่อจากความต้องการทางกายภาพและความปลอดภัยขึ้นพื้นฐาน

ชาวดัช มีสุภาษิตว่า “เพื่อนบ้านที่ดีนั้นยอดเยี่ยมมากกว่ามิตรสหายที่อยู่ไกลกัน”

2. เงิน

เงินทำให้เรามีความสุขได้จริงๆ เหรอ คำตอบก็คือ “ใช่” คำถามต่อมาก็คือ เงินยิ่งมาก ก็ยิ่งทำให้เรามีความสุขมากขึ้นใช่หรือไม่? คำตอบคือ … 

โดยทั่วไปแล้วยิ่งเรามีสิ่งใดมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งหาควาสุขจากสิ่งนั้นได้น้อยลง นักเศรษฐาสตร์เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า กฎการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม (law of diminishing marginal utility) นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมบางคนรวยแล้วยังไม่มีความสุขมากตามไปด้วย อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เราได้ปรับตัวเข้ากับความร่ำรวยระดับใหม่แล้ว เราเรียกสิ่งนี้ว่า สายพานของความรื่นรมย์ (hedonic treadmill) ซึ่งก็คือ การที่เราคอยยกระดับมาตรฐานของสิ่งที่เราต้องการหรือรู้สึกว่าจำเป็นต้องมี เพื่อให้มีความสุขตลอดเวลา เราจึงมีความต้องการไม่สิ้นสุดเพื่อให้เราได้รู้สึกว่ามีความสุขอยู่ตลอดเวลา

วิธีแก้ปัญหาเรื่องสายพานของความรื่นรมณ์ก็คือ “เตรียมใจ” สามารถทำได้โดยให้เราสนุกไปกับการเดินทางสู่เป้าหมายให้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ระลึกไว้ว่าการบรรลุเป้าหมายไม่อาจเติมเต็มความหสุขให้ได้อย่างสมบูรณ์หรอก เพราะโดยธรรมชาติเราไม่เคยหยุดยกระดับมาตรฐานของสิ่งที่เราต้องการ หรือรู้สึกว่าจำเป็นต้องมีเพื่อนำมาซึ่งความสุข

แทนที่จะแสวงหาผลลัพธ์สุดท้าย ให้เปลี่ยนมาเป็นการแสวงหาสิ่งที่ตนมองว่ามีความหมายแทน มันทำให้มีแนวโน้มที่เราจะมีความสุขมากกว่า เพราะผลพลอยได้จากกระบวนการ หาใช่รางวัลซึ่งไม่มีอยู่จริงตรงเส้นชัย

โดยทั่วไป คนเรามักสนใจฐานะของเราในลำดับชั้นทางสังคมโดยธรรมชาติ นี่เป็นเหตุผลให้เราพยายามลอกเลียนรูปแบบการบริโภคของคนที่รวยกว่าเราด้วย ถ้าเรารู้ตัวว่าเรากำลังเป็นแบบนี้ ให้เลิกปราถนาที่จะไม่ยอมให้ตนเองต้องน้อยหน้าเพื่อนบ้าน เพราะมันจัดเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตการณ์ทางการเงิน (อ่านเพิ่มที่หนังสือ Psycology of Money) ประเด็นคือ ถ้าเราจ่ายเงินซื้อสิ่งที่เราไม่ต้องการ เพียงเพื่อให้ใครต่อใครประทับใจ เราไม่ได้ขยับเข้าไปใกล้ความสุขมากกว่าเดิมเลย

อีกวิธีหนึ่งก็คือ ให้แยกแยะความอยู่ดีมีสุข กับความร่ำรวยออกจากกัน คุณภาพชีวิตที่ดี ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยเงินก้อนโต และความร่ำรวยไม่ได้ประกอบขึ้นจากสมบัติพัสถานมากมาย แต่ประกอบขึ้นมาจากความต้องการแต่น้อย

3. สุขภาพ

ความสุขจากการมีสุขภาพดี woman in black sports bra showing her biceps
Photo by Pavel Danilyuk on Pexels.com

ไม่ต้องพูดกันเยอะกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยกลางคนขึ้นไปต่างรู้กันดี ว่าการที่เรามีสุขภาพที่ดี จะทำให้เราเล่นสนุก สามารถเสาะแสวงการผจญภัย และไขว่คว้าหาความสุขได้ เราสามารถเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ ให้ร่างกายแข็งแรงจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตปกติแทนที่จะต้องเข้ายิม หรือถ้าอยากฝึกฝนจนเป็นนิสัย ลองใช้แนวทางจากหนังสือเรื่อง Atomic Habits

นอกจากการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายแล้ว ที่ญี่ปุ่นยังมีศาสตร์หนึ่งที่เรียกว่า ชินริง-โยกุ (Shinrin-yoku) แปลตรงตัวว่า “การอาบป่า” ทุกวันนี้มีคนญี่ปุ่นนับล้านๆ คนเดินไปตามเส้นทาง ป่าบำบัด ทั้ง 48 สาย การอาบป่าก็ทำได้ง่ายๆ ด้วยการค้นหาและสำรวจผืนป่า ค่อยๆ เดินไปช้าๆ และเลิกคิดหามุมถ่ายรูปสวยๆ ไปลงอินสตาแกรม แต่ให้เงี่ยหูฟังเสียงลมพัดผ่านใบไม้ เฝ้ามองแสงอาทิตย์สะท้อนกระทบกิ่งไม้ สูดหายใจลึกๆ แล้วสังเกตดูซิว่าเราได้กลิ่นอะไรบ้าง

4. เสรีภาพ

หมายถึงการมีเสรีภาพที่จะเลือกว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไร เพราะการรู้สึกว่าเราเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของเราเองนั้นเกี่ยวกันกับความสุข ไม่มีใครสุขได้อย่างแท้จริง หากไม่รู้สึกว่าได้เลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง ในหนังสือเล่มนี้ได้ยกตัวอย่างเรื่องการมีเสรีภาพด้านเวลา ชาวเดนมาร์ก ให้คุณค่ากับเวลาว่างอย่างไม่ปิดบัง พวกเขาให้คุณค่ากับเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง อีกทั้งยังออกจากที่ทำงานตอน 4 หรือ 5 โมงเย็นและไม่จำเป็นต้องหาข้ออ้างอะไรเพื่อออกจากที่ทำงาน ที่สำคัญ ครอบครัวต้องมีเวลากินข้าวด้วยกันทุกวัน ชาวเดนมาร์กน่าจะเป็นชาติที่รักษาสมดุลย์ระหว่างงานกับชีวิตด้านอื่นๆ ได้ดีที่สุดชาติหนึ่งในโลกเลยก็ว่าได้

เมื่อเราเลือกงานที่เราต้องทำในทุกๆ วัน เราไม่ควรคำนึงถึงรายได้ที่คาดว่าจะได้รับเป็นหลัก แต่ควรคำนึงถึงความพึงพอใจที่ได้จากงานก่อน เพราะเราใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับการทำงาน ฉะนั้น งานควรเป็นสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข

ว่ากันว่ามีอยู่สามอย่างที่พรากเสรีภาพในที่ทำงานของเราไป ได้แก่ การประชุม ผู้จัดการ และอีเมล 

ผลงานวิจัยน่าสนใจ

  • การเดินทางระหว่างบ้านกับที่ทำงานที่ยาวนานที่สุดเกิดขึ้นในกรุงเทพ
  • ความสุขของเราดูจะลดน้อยลงตามระยะทางที่เดินทางไปทำงาน

5. ความไว้เนื้อเชื่อใจ

ความสุขจากความไว้เนื้อเชื่อใจกัน photo of three people smiling while having a meeting
Photo by fauxels on Pexels.com

สังคมที่ประสบความสำเร็จคือสังคมที่ผู้คนไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับสูงไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน มิตรสหาย หรือแม้แต่คนแปลกหน้า รวมถึงสถาบันต่างๆ อย่างรัฐบาล ความเชื่อใจกันในสังคมกระตุ้นให้ผู้คนรู้สึกพึงพอใจในชีวิต อย่างในที่ทำงาน ถ้าเราไว้เนื้อเชื่อใจกัน เราจะวางรากฐานของความสำเร็จไว้บนการร่วมแรงร่วมใจและการทำงานเป็นทีมมากกว่าการที่ใครคนหนึ่งจะพยายามตะเกียกตะกายขึ้นไปเป็นดาวเด่นเพียงคนเดียว 

ความไว้เนื้อเชื่อใจถูกสร้างมาจากไหน?

  1. ความเห็นอกเห็นใจ — ถ้าเรามีทักษะความเห็นอกเห็นใจที่แข็งแกร่ง ย่อมมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกันมากกว่าแก่งแย่งกัน และเมื่อเราทุกคนร่วมมือกัน เราย่อมมีแนวโน้มที่จะไว้ใจกันมากขึ้น
  2. ความซื่อสัตย์
  3. นิยามความสำเร็จ — เราต้องเข้าใจว่าความสำเร็จไม่จำเป็นต้องเป็นเกมที่มีผู้แพ้ผู้ชนะเพียงเพราะคุณชนะก็ไม่ได้หมายความว่าผมแพ้แต่อย่างใด เช่น ระบบการศึกษาที่มีจัดอันดับนักเรียน เป็นการสอนให้พวกเด็กๆ เชื่อว่าความสำเร็จคือเกมที่ต้องมีผู้แพ้-ผู้ชนะ ถ้าคุณทำได้ดี จะเป็นการบ่อนทำลายโอกาสของใครอีกคน แต่ความสุข ไม่ควรเป็นอย่างนั้น (อ่านเพิ่มในหนังสือ 21st Century Skills)
  4. ปลูกฝัง mindset มาตั้งแต่เด็ก — มุ่งเน้นไปที่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความร่วมมือกันเป็นสำคัญ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ทักษะทางสังคม” นั่นเอง โดยเป้าหมายในการปลูกฝังเด็ก จะไม่ใช่เพื่อสร้างหุ่นยนต์มนุษย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เพื่อหล่อหลอมบุคคลที่รู้จักเข้าอกเข้าใจ และช่วยเหลือผู้อื่นเป็นหลัก

ผลวิจัยน่าสนใจ

  • เมื่อคนชนชั้นสูงกว่าตระหนักถึงสถานะชนชั้นสูงของตัวมากขึ้น พวกเขาก็มีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมมากกว่าเดิม เห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง ซ้ำยังรู้สึกว่าตัวมีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้น 

เราไม่ตัดสินคุณค่าของสังคมจากความสำเร็จของผู้เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก แต่ตัดสินจากการที่เราพยุงคนล้มให้ลุกขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง 

6. น้ำใจ

ความสุขจากการมีน้ำใจ elderly man giving food to a beggar
Photo by Yura Forrat on Pexels.com

เรามอบความสุขให้คนอื่นได้ จากการมีน้ำใจของเรา และการมีน้ำใจ ยังทำให้เรารู้สึกดี เพราะการกระทำเช่นนั้นชวนให้รู้สึกครึ้มใจเหมือนได้เสพมอร์ฟีนระดับอ่อนๆ จริงๆ แล้วถ้ามองในมุมมองวิวัฒนการ เราล้วนถูกสร้างมาให้รู้สึกดีเมื่อได้ทำบางอย่างเพื่อให้เผ่าพันธุ์ของเราอยู่รอด และยิ่งกว่านั้น การแจกจ่ายรอยยิ้ม และถ้อยคำหวานหู สองสิ่งนี้มอบให้กันได้ฟรีๆ

ผลวิจัยน่าสนใจ

  • ปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ว่าผู้คนในเมืองต่างๆ จะช่วยเหลือคนอื่นมากน้อยแค่ไหน คือความพลุกพล่านของเมืองนั่นเอง ถ้าเมืองนั้นมีคนอยู่มาก แต่ละบุคคลจะยิ่งรู้สึกว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ และรับผิดชอบต่อผู้อื่นน้อยลง มีน้ำใจให้กันน้อยลง

ความสุข

การมีความสุขเกี่ยวพันกับการมีชีวิตที่ดี หากเราต้องการมีความสุข แทนที่เราจะพยายามไขว่คว้าหาความสุข ที่มีหน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เราก็หันมาไขว่คว้าหาสิ่งเหล่านี้แทนก็ได้

  1. ความเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนในสังคม ลองทักทายเพื่อนบ้าน เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม
  2. ความอยู่ดีมีสุข ที่เกิดจากเงิน หรือความต้องการเพียงน้อยนิด
  3. สุขภาพ ดูแลตัวเอง ก่อนที่จะสายเกินไป จงหวงแหนสุขภาพ
  4. เสรีภาพ
  5. ความไว้เนื้อเชื่อใจ
  6. น้ำใจ การมอบรอยยิ้ม และถ้อยคำหวานหูนั้นฟรี

You may also like